-
Who We Are
WHO WE AREThe International Organization for Migration (IOM) is part of the United Nations System as the leading inter-governmental organization promoting since 1951 humane and orderly migration for the benefit of all, with 175 member states and a presence in over 100 countries.
About
About
IOM Global
IOM Global
-
Our Work
Our WorkAs the leading inter-governmental organization promoting since 1951 humane and orderly migration, IOM plays a key role to support the achievement of the 2030 Agenda through different areas of intervention that connect both humanitarian assistance and sustainable development.
Cross-cutting (Global)
Cross-cutting (Global)
- Data and Resources
- Take Action
- 2030 Agenda
ชัยภูมิ, ประเทศไทย – ฝูงวัวส่งเสียงร้องในขณะที่พ่อค้าต้อนพวกมันออกมาจากคอกเพื่อยลโฉมให้กับบรรดาผู้ซื้อ หนึ่งในนั้นคือสมชาย* เกษตรกรวัย 44 ปี ผู้ยืนคัดเลือกวัวแต่ละตัวอย่างพิถีพิถัน โดยมีภรรยาของเขาพร้อมลูกสาววัย 4 ปีอยู่เคียงข้าง
“ผมเอาตัวนี้” เขากล่าวกับพ่อค้าวัวพร้อมกับชี้ไปยังวัวตัวเดียวกันกับที่ลูกสาวของเขาเลือก
สมชายเป็นหนึ่งใน 40 แรงงานตามฤดูกาลไทยที่เดินทางกลับจากประเทศสวีเดนหลักจากที่พวกเขาถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างในอุตสาหกรรมเก็บเบอร์รี่ ด้วยการสนับสนุนจากโครงการให้ความช่วยเหลือการกลับภูมิลำเนาและคืนสู่สังคมโดยสมัครใจของผู้ย้ายถิ่น (Assisted Voluntary Return and Reintegration – AVRR) ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) เขากลับมายังประเทศไทยอย่างมีศักดิ์ศรี พร้อมด้วยความหวังที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่กับอาชีพเกษตรกร
จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน ชาวไทยนับพันคน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรจากภาคอีสาน เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ตามฤดูกาลระหว่างเดือนมิถุนายนและกันยายนของทุกปี ช่วงเวลาดังกล่าวอยู่นอกฤดูกาลทำการเกษตรของประเทศไทย จึงทำให้เกษตรกรหลายคนตัดสินใจที่จะเดินทางไปหารายได้เสริมในดินแดนที่ห่างไกล
คำบอกเล่าปากต่อปากว่ามีคนโกยรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการทำงานระยะสั้นสามเดือนนี้ บางครั้งมากกว่ารายได้ทั้งปีจากการทำนาในประเทศไทย จูงใจให้สมชายโยกย้ายถิ่นฐานไปทำงานในกลุ่มประเทศนอร์ดิกในปี 2565 การเดินทางไปทำงานในฐานะแรงงานตามฤดูกาลครั้งแรกของเขาที่ประเทศฟินแลนด์ราบรื่นไปได้ด้วยดี แต่การเดินทางครั้งที่สองไปยังประเทศสวีเดนในปี 2566 กลับไม่เป็นไปตามที่เขาคิดและทำให้เขาต้องตกเป็นหนี้อย่างหนัก
“ผมเคยไปเก็บที่ฟินแลนด์มาก่อน แต่ครั้งนี้ผมตัดสินใจที่จะไปสวีเดนเพราะผมคิดว่ามันน่าจะมีโอกาสในการเก็บเบอร์รี่และทำรายได้ที่ดีกว่าเพื่อไปใช้หนี้” เขาบอก
อย่างไรก็ตาม ความจริงนั้นกลับตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาคาดหวังอย่างสิ้นเชิง
“เมื่อผมมาถึงสวีเดน นายจ้างกลับไม่จ่ายเงินตามที่คุยกันไว้ตอนแรก เขาบอกว่าจะจ่ายให้ทุกสัปดาห์ แต่พอไปถึงหน้างานกลับบ่ายเบี่ยงและคอยหักนู่นหักนี่โดยไม่เปิดเผยข้อมูลว่าหักอะไรไปบ้าง ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจริง ๆ แล้วผมต้องได้เท่าไหร่”
แม้แรงงานไทยจะได้รับวีซ่าทำงานและมีการจัดทำสัญญาจ้างงานซึ่งรับรองรายได้ขั้นต่ำและสภาพการทำงานที่เหมาะสม ผู้ย้ายถิ่นที่เดินทางไปทำงานเก็บเบอร์รี่ตามฤดูกาลหลายคนกลับประสบปัญหาการเอารัดเอาเปรียบแรงงานที่คล้ายกัน
“ผมไม่มีทางเลือกนอกจากตั้งใจทำงาน เก็บบลูเบอร์รี่ คลาวด์เบอร์รี่ และลิงงอนเบอร์รี่ หวังว่าจะได้เงินพอที่จะจ่ายหนี้ที่กู้เขามาสวีเดน” สมชายเล่าให้ฟัง
เขาเล่าว่าวันของเขาที่นั่นเริ่มต้นด้วยการขับรถเป็นระยะทางไกลจากที่พักไปยังพื้นที่เก็บผลไม้ หลังจากนั้นเขาจะทำงานหลายชั่วโมงตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นยันพระอาทิตย์ตก เกินกว่าเงื่อนไขเวลาทำงานที่ระบุไว้ในสัญญา แรงงานต้องเผชิญกับสภาพภูมิประเทศอันโหดร้าย ซึ่งทำให้งานนี้ต้องใช้ทั้งกำลังกายและใจเป็นอย่างมาก
“ลำบากครับ” สมชายบอก “ตอนที่ผมเซ็นสัญญา นายจ้างบอกว่าจะมีที่พัก อาหาร และค่าน้ำมันให้”
แต่ในความเป็นจริง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้กลับมีให้เพียงบางส่วน หรือในบางครั้งแทบไม่มีให้เลย
“เราได้ปลาทูมา 3-4 ตัวสำหรับคน 7 คนกับไข่ต้มคนละใบ กิน 2 มื้อ เราต้องกินเพื่ออยู่ให้ได้ทั้งวัน นายจ้างเขาไม่สนใจหรอกว่ามีอาหารพอไหม ที่พักก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน นอนกันเบียดมาก เราต้องจำใจอยู่”
หลังจากที่ต้องทนอยู่กับสภาพการทำงานที่โหดร้ายและความเป็นอยู่ที่ยากลำบากมานานกว่าสองเดือน สมชายตัดสินใจที่จะยืนหยัดเพื่อสิทธิของเขา แม้นายจ้างจะพยายามเกลี้ยกล่อมให้เขาประนีประนอม แต่เขายังคงเดินหน้าต่อสู้และเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
“เจ้าหน้าที่ตำรวจเขาเข้ามาพร้อมล่าม เราก็เลยบอกความจริงกับเจ้าหน้าที่ไป” เขากล่าว
หน่วยงานท้องถิ่นได้ส่งต่อเรื่องของเขาและแรงงานคนอื่น ๆ รวม 40 คนที่ได้รับผลกระทบจากการเอารัดเอาเปรียบแรงงานไปยังไอโอเอ็ม โดยในจำนวนนี้ 9 รายได้ยื่นฟ้องนายจ้างในประเทศสวีเดน ไอโอเอ็มได้ให้ความช่วยเหลือในการยื่นเรื่องขอรับเงินค่าชดเชยและการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจากการถูกละเมิดสิทธิแรงงาน พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับภูมิลำเนาและคืนสู่สังคมโดยมีเจ้าหน้าไอโอเอ็มที่ประจำอยู่ในประเทศไทยและฟินแลนด์ให้การดูแล
“เจ้าหน้าที่ไอโอเอ็มเข้ามาประสานงานกับทางสวีเดนให้” สมชายบอก “การเดินทางกลับราบรื่นดี พอมาถึงสนามบินที่ไทย ทางไอโอเอ็มมีรถตู้บริการจากสนามบินมาถึงที่บ้าน”
โครงการ AVRR ของไอโอเอ็มให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารจัดการ การเดินทาง และการเงินให้กับผู้ย้ายถิ่นที่มีความประสงค์จะเดินทางกลับภูมิลำเนาโดยสมัครใจแต่ขาดทุนทรัพย์ ความช่วยเหลือดังกล่าวครอบคลุมตลอดทั้งกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การให้คำปรึกษาก่อนการเดินทาง การประสานงานเรื่องการเดินทางระหว่างประเทศ จนไปถึงการส่งต่อถึงจุดหมายปลายทางและการกลับคืนสู่สังคม
“การให้ความช่วยเหลือด้านการกลับคืนสู่สังคมมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้ผู้ย้ายถิ่นสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังจากที่กลับสู่ภูมิลำเนาได้อย่างสมบูรณ์” ซาสเกีย ค็อก หัวหน้าแผนกคุ้มครองผู้ย้ายถิ่น ไอโอเอ็ม ประเทศไทย กล่าว “หากพวกเขาไม่ได้รับความช่วยเหลือ การเริ่มต้นใหม่อาจเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไอโอเอ็มและพันธมิตรของเรามุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนในการเดินทางกลับและคืนสู่สังคมที่ครอบคลุมและคำนึงถึงมิติด้านสังคมเศรษฐกิจและจิตสังคม เพื่อสร้างโอกาสที่ยั่งยืน พร้อมทั้งเสริมพลังให้กับผู้ย้ายถิ่นให้มีความเป็นอยู่และอนาคตที่ดีกว่าสำหรับตัวเองและครอบครัว”
ปัจจุบัน สมชายได้ตั้งหลักอยู่ที่บ้านเกิดของเขาและเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยความหวังที่จะหลุดพ้นออกจากวงจรร้ายที่ทำให้เกษตรกรหลายคนตกเป็นเหยื่อ
“ตอนนี้ผมกลับมาทำเกษตรแล้วครับ” เขากล่าว “เลี้ยงวัวไปเรื่อย ๆ แล้วขาย หาเงินมาจุนเจือครอบครัว”
ไอโอเอ็มได้มอบวัวเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนันสนุนการกลับคืนสู่สังคมของผู้ย้ายถิ่น ซึ่งรวมไปถึงการมอบเงินและสิ่งของเพื่อช่วยให้พวกเขามีความยั่งยืนทางสังคมและเศรษฐกิจ
การสนับสนุนนี้เป็นไปตามผลการประเมินความต้องการที่ไอโอเอ็มได้ทำการสัมภาษณ์ผู้ย้ายถิ่นหลังเดินทางกลับ โดยพวกเขาแจ้งความประสงค์ที่จะเลี้ยงวัวเพื่อเป็นแหล่งรายได้เสริมควบคู่ไปกับการเพาะปลูก
แม้ยังมีหลายคนเลือกที่จะเสี่ยงกับโอกาสอันน่าดึงดูดใจในต่างประเทศ สมชายขอให้พวกเขาศึกษาสิทธิต่าง ๆ และลักษณะงานให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจไป
“ขอฝากให้คนที่อยากจะไปดูรายละเอียดให้ดีจะได้ไม่เสียใจภายหลัง” เขาบอก “ถ้าเกิดอะไรขึ้นมา ให้ร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ เขาจะได้ให้ความช่วยเหลือเรา”
*ชื่อถูกเปลี่ยนเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว
โครงการให้ความช่วยเหลือการกลับภูมิลำเนาและคืนสู่สังคมโดยสมัครใจของผู้ย้ายถิ่น (AVRR) ของไอโอเอ็มเกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนทางการเงินจากกระทรวงกิจการภายในออสเตรเลีย ภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือการเดินทางกลับและคืนสู่สังคมสำหรับผู้ย้ายถิ่นที่ตกค้างของกระบวนการบาหลี (Bali Process) และหน่วยงานความเท่าเทียมทางเพศสวีเดน ภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือการเดินทางกลับและคืนสู่สังคมอย่างยั่งยืนสำหรับผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์
หมายเหตุ : ประเทศสวีเดนกำลังจะมีการบังคับใช้กฎระเบียบว่าด้วยแรงงานตามฤดูกาล (Seasonal Workers Directive) กับแรงงานเก็บเบอร์รี่ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2568 เป็นต้นไป คาดว่ากฎระเบียบนี้จะส่งผลให้อุตสาหกรรมเก็บเบอร์รี่ของสวีเดนมีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น
บทความนี้เขียนโดย ทัพพนัย บุญบัณฑิต ผู้ช่วยฝ่ายสื่อและการสื่อสาร ไอโอเอ็ม ประเทศไทย